Home » » ‪ข่มขืน‬ = ‪‎ประหาร‬ (สถานเดียว) จะถูกต้องหรือไม่ ?

‪ข่มขืน‬ = ‪‎ประหาร‬ (สถานเดียว) จะถูกต้องหรือไม่ ?



ช่วงนี้กระแสอาจจะเบาลงไปบ้างแล้ว ทั้งกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในโลกโซเชียลเน็ตเวิร์ค หรือการรณรงค์ให้คดีข่มขืนมีโทษประหารชีวิต (สถานเดียว) มีข่าวคราวกันทีก็โหมกระแสกันที เกาะกระแสกันไป เหมือนไฟไหม้ฟาง ทำกันไปด้วยอารมณ์โกรธ และความไม่รู้กฎหมายเท่าที่ควร
จึงขอเอาเรื่องข่มขืนกระทำชำเรา มาให้อ่านกันอย่างละเอียด เพื่อจะได้มีข้อมูลที่จะใช้เป็นเหตุผลในการตัดสินใจ หรือให้ความเห็นเกี่ยวกับเรื่องการกำหนดโทษของผู้กระทำความผิด ดังนี้
กฎหมายบอกว่า...
๑. การข่มขืนกระทำชำเรา หมายถึง การที่ผู้ใดกระทำเพื่อสนองความใคร่ของผู้กระทำและผู้ถูกกระทำชำเราไม่ยินยอมโดยใช้
๑.๑ อวัยะเพศของผู้กระทำกระทำกับอวัยะเพศ ทวารหนัก หรือช่องปากของผู้อื่น หรือ
๑.๒ การใช้สิ่งอื่นใดกระทำกับอวัยวะเพศหรือทวารหนักของผู้อื่น
๒. ผู้ชายข่มขืนกระทำชำเราผู้หญิง หรือผู้หญิงข่มขืนกระทำชำเราผู้ชายก็มีความผิดเช่นเดียวกันและมีโทษเท่ากัน
๓. สามีข่มขืนกระทำชำเราภริยา หรือภริยาข่มขืนกระทำชำเราสามีก็มีความผิดเช่นเดียวกันและมีโทษเท่ากัน
๔. ผู้ที่เรียกตนเองว่าเพศที่สามไม่ว่าผู้ชายแต่ใจเป็นผู้หญิง หรือผู้หญิงแต่ใจเป็นผู้ชาย ข่มขืนกระทำชำเรากันไม่ว่าฝ่ายไหนกระทำต่อฝ่ายไหนก็มีความผิดเช่นเดียวกันและมีโทษเท่ากัน
๕. โทษตามที่กฎหมายกำหนดไว้
๕.๑ กรณีผู้ถูกข่มขืนกระทำชำเรามีอายุเกิน ๑๕ ปี
๑. มีโทษจำคุก ๔ ปี ถึง ๒๐ ปี (มาตรา ๒๗๖ วรรคหนึ่ง)
๒. ถ้าผู้กระทำมีอาวุธปืนหรือวัตถุระเบิด หรือร่วมกระทำความผิดด้วยกันอันมีลักษณะเป็นการโทรมหญิงหรือชาย มีโทษจำคุก ๑๕ ปี ถึง ๒๐ ปี หรือจำคุกตลอดชีวิต (มาตรา ๒๗๖ วรรคสาม)
๓. ถ้าผู้ถูกข่มขืนกระทำชำเราได้รับอันตรายสาหัส มีโทษจำคุก ๑๕ ปี ถึง ๒๐ ปี หรือจำคุกตลอดชีวิต (มาตรา ๒๗๗ ทวิ (๑))
๔. ถ้าผู้ถูกข่มขืนกระทำชำเราถึงแก่ความตาย มีโทษ ‪#‎ประหารชีวิตหรือจำคุกตลอดชีวิต‬ (มาตรา ๒๗๗ ทวิ (๒))
๕. ถ้าผู้กระทำมีอาวุธปืนหรือวัตถุระเบิด หรือร่วมกระทำความผิดด้วยกันอันมีลักษณะเป็นการโทรมหญิงหรือชาย เป็นเหตุให้ผู้ถูกข่มขืนกระทำชำเราได้รับอันตรายสาหัส มีโทษ #ประหารชีวิตหรือจำคุกตลอดชีวิต (มาตรา ๒๗๗ ตรี (๑))
๖. ถ้าผู้กระทำมีอาวุธปืนหรือวัตถุระเบิด หรือร่วมกระทำความผิดด้วยกันอันมีลักษณะเป็นการโทรมหญิงหรือชาย เป็นเหตุให้ผู้ถูกข่มขืนกระทำชำเราถึงแก่ความตาย มีโทษ ‪#‎ประหารชีวิตสถานเดียว‬ (มาตรา ๒๗๗ ตรี (๒))
๕.๒ กรณีผู้ถูกชำเราเป็นเด็กอายุไม่เกิน ๑๕ ปี ซึ่งมิใช่ภริยาหรือสามีของผู้กระทำ โดยเด็กนั้นจะยินยอมหรือไม่ยินยอม ผู้กระทำก็มีความผิด
๑. มีโทษจำคุก ๔ ปี ถึง ๒๐ ปี (มาตรา ๒๗๗ วรรคหนึ่ง)
๒. ถ้าเป็นเด็กอายุไม่เกิน ๑๓ ปี มีโทษจำคุก ๗ ปี ถึง ๒๐ ปี หรือจำคุกตลอดชีวิต (มาตรา ๒๗๗ วรรคสาม)
๓. ถ้าผู้กระทำได้กระทำโดยมีอาวุธปืนหรือวัตถุระเบิด หรือโดยใช้อาวุธ หรือร่วมกระทำความผิดด้วยกันอันมีลักษณะเป็นการโทรมเด็กหญิงหรือเด็กชายและเด็กนั้นไม่ยินยอม มีโทษจำคุกตลอดชีวิต (มาตรา ๒๗๗ วรรคสี่)
๔. ถ้าการกระทำตามข้อ ๑. และ ข้อ ๒. เป็นเหตุให้ผู้ถูกกระทำได้รับอันตรายสาหัส มีโทษจำคุก ๑๕ ปี ถึง ๒๐ ปี (มาตรา ๒๗๗ ทวิ (๑))
ถ้าผู้ถูกกระทำถึงแก่ความตาย มีโทษ ‪#‎ประหารชีวิตหรือจำคุกตอดชีวิต‬ (มาตรา ๒๗๗ ทวิ (๒))
๕. ถ้าการกระทำตามข้อ ๓. เป็นเหตุให้ผู้ถูกกระทำได้รับอันตรายสาหัส มีโทษ #ประหารชีวิตหรือจำคุกตลอดชีวิต (มาตรา ๒๗๗ ตรี (๑))
ถ้าผู้ถูกกระทำถึงแก่ความตาย มีโทษ #ประหารชีวิตสถานเดียว (มาตรา ๒๗๗ ตรี (๒))
๕.๓ ถ้าข่มขืนกระทำชำเราหรือชำเราแล้วฆ่าผู้ถูกกระทำเพื่อปกปิดการกระทำนั้น มีโทษ #ประหารชีวิตสถานเดียว (มาตรา ๒๘๙(๗))
การกำหนดโทษสำหรับผู้กระทำความผิดดังที่กล่าวมาแล้ว จะเห็นได้ว่า ได้กำหนดขึ้นตามความร้ายแรงของการกระทำ เริ่มจากการข่มขืนกระทำชำเราที่ผู้ถูกกระทำไม่ได้รับอันตรายสาหัส เป็นการกระทำในลักษณะตัวต่อตัว และโดยปราศจากอาวุธใด ๆ แล้วเพิ่มโทษหนักขึ้นไปตามความร้ายแรงที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนถึงประหารชีวิตสถานเดียว
ถ้าจะแก้ไขกำหนดโทษให้ประหารชีวิตสถานเดียวในทุกกรณี โดยไม่คำนึงถึงการกระทำที่มีความร้ายแรงแตกต่างกัน ก็น่าจะไม่ถูกต้องตามหลักการกำหนดโทษในคดีอาญา ที่การกำหนดโทษในการกระทำที่แตกต่างกันต้องให้มีโทษหนักเบาต่างกัน แต่กลับเป็นให้มีโทษเท่ากัน
ถ้ามีโทษประหารชีวิตสถานเดียว โดยปกติในระหว่างสอบสวนของพนักงานสอบสวนและในระหว่างพิจารณาคดีของศาล มักจะไม่ได้รับอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวเพราะเกรงว่าจะหลบหนี แต่เมื่อศาลชั้นต้นพิจารณาเสร็จแล้ว พิพากษายกฟ้อง หรือศาลชั้นต้นลงโทษ แต่ศาลอุทธรณ์ หรือศาลฎีกา พิพากษายกฟ้อง แต่จำเลยก็ถูกคุมขังนานเป็นปีทั้ง ๆ ที่ไม่ได้กระทำความผิด
คดีข่มขืนกระทำชำเราที่ผู้ถูกกระทำไม่ใช่เด็กอายุไม่เกิน ๑๓ ปี หรือไม่เกิน ๑๕ ปี ผู้ถูกกระทำไม่ได้รับอันตรายสาหัส หรือถึงแก่ความตาย มักจะไม่เป็นข่าวในสื่อสารมวลชน และคดีเหล่านี้มักจะมีพยานเพียงเฉพาะผู้เสียหายคนเดียวเท่านั้น ถ้ากำหนดโทษให้ประหารชีวิตสถานเดียว ก็น่าเป็นห่วงว่าผู้กระทำความผิดจะฆ่าผู้เสียหายเพื่อปิดปากปกปิดการกระทำความผิดของตน เพราะถึงอย่างไรก็มีโทษประหารชีวิตเหมือนกันอยู่แล้ว ถ้าฆ่าผู้เสียหายเสียอาจไม่มีใครรู้เรื่องและไม่ถูกดำเนินคดีก็ได้
วันดีคืนดีภริยาไปแจ้งความว่าสามีข่มขืนกระทำชำเราหรือสามีไปแจ้งความว่าภริยาข่มขืนกระทำชำเรา พยานที่รู้เห็นก็คงมีเฉพาะตัวผู้เสียหายคือภริยาหรือสามีที่ไปแจ้งความ ผู้อื่นจะไม่มีทางรู้เห็นได้เพราะอยู่ในห้องนอนกันเพียง ๒ คนเท่านั้น
ถ้ามีโทษประหารชีวิตสถานเดียว อะไรจะเกิดขึ้นก็ไม่อาจคาดหมายได้
สังคมไทยต้องการอย่างไร ก็คิดกันด้วยเหตุด้วยผลแล้วค่อยตัดสินใจกัน ครับ
‪#‎ขอบคุณ‬ รูปภาพที่ใช้ประกอบ เพื่อเป็น วิทยาทาน ด้วยครับ